- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
GDP เกษตร Q2 โต 0.3% สศก. ระบุ สาขาประมง-ปศุสัตว์ ขยายตัวจากการผลิตที่ได้มาตรฐาน-เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่สาขาพืช เผชิญสภาพอากาศแปรปรวน-ต้นทุนสูง ส่งผลหดตัวลง
ข่าวที่ 76/2566 วันที่ 19 กรกฎาคม 2566
GDP เกษตร Q2 โต 0.3% สศก. ระบุ สาขาประมง-ปศุสัตว์ ขยายตัวจากการผลิตที่ได้มาตรฐาน-เศรษฐกิจฟื้นตัว
ขณะที่สาขาพืช เผชิญสภาพอากาศแปรปรวน-ต้นทุนสูง ส่งผลหดตัวลง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 2 ปี 2566 (เมษายน - มิถุนายน) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดของภาคเกษตรหดตัวลง เนื่องจากปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช อีกทั้งยังมีสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงปลายปี 2565 ถึงช่วงต้นปี 2566 ทำให้พื้นที่ทางภาคตะวันออกมีฝนตกชุกต่อเนื่องสลับกับมีลมพายุ ส่งผลให้สินค้ากลุ่มผลไม้ ดอกและผลร่วงหล่นเสียหาย ขณะที่พื้นที่ทางภาคใต้มีฝนน้อยและสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้สินค้าปาล์มน้ำมันและยางพารามีผลผลิตลดลง นอกจากนี้ ราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญหลายชนิดยังอยู่ในระดับสูงทั้งปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการผลิต ลดปริมาณการผลิตหรือใช้ปัจจัยการผลิตลดลง ส่งผลให้ภาพรวมของภาคเกษตรขยายตัวได้ไม่มากนัก เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่าขณะที่สาขาพืช เผชิญสภาพอากาศแปรปรวน-ต้นทุนสูง ส่งผลหดตัวลง
v สาขาพืช ในไตรมาส 2 ปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง เนื่องจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 เนื้อที่ปลูกในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักและประสบอุทกภัย ทำให้หัวมันสำปะหลังในบางพื้นที่ ประกอบกับปริมาณฝนที่ลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึง เดือนพฤษภาคม 2566 ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยและสภาพอากาศร้อน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาปุ๋ยเคมีมีราคาสูง เกษตรกรจึงลดปริมาณการใส่ปุ๋ย ทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ และมีปริมาณผลผลิตลดลง ทุเรียน ผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่ปลูกทุเรียนทางภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกชุกต่อเนื่องสลับกับมีลมหนาวในช่วงปลายปี 2565 ส่งผลให้ทุเรียนไม่สามารถพัฒนาเป็นระยะติดผลได้ ประกอบกับลมพายุในช่วงเดือนธันวาคม 2565 - มกราคม 2566 ทำให้ดอกและใบร่วง ผลทุเรียนจึงไม่สมบูรณ์ มีขนาดเล็ก น้ำหนักน้อย และสภาพอากาศที่แปรปรวนยังทำให้ทุเรียนในภาคใต้ให้ผลผลิตช้ากว่าปีที่ผ่านมา มังคุดและเงาะ ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นมังคุดและเงาะเพื่อไปปลูกทุเรียนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ประกอบกับปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 มีลมพายุทำให้ดอกและผลมังคุดบางส่วนร่วงหล่น และสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลต่อการติดผลและการเติบโตของผลเงาะ
สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูฝนปี 2565 มีฝนตกชุกจากสภาวะลานีญา และในเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและมีการดูแลรักษาดีขึ้น และลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพนอกฤดูเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแหล่งผลิตสำคัญทางภาคเหนือ และราคาลำไยที่ปรับตัวสูงขึ้นยังจูงใจให้เกษตรกรบำรุงดูแลรักษาดีขึ้น รวมถึงไม่มีโรคและแมลงระบาด ทำให้มีผลผลิตลำไยนอกฤดูมากขึ้น สำหรับข้าวนาปีมีผลผลิตทรงตัว เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีจึงจูงใจให้เกษตรกรยังคงดูแลรักษาผลผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงการเพาะปลูกเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
v สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 3.2 สินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ประกอบกับมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในประเทศ ที่มีมากขึ้น และการส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นในสินค้าไก่เนื้อที่ได้มาตรฐานของไทย และไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง คือ น้ำนมดิบ เนื่องจากจำนวนแม่โคให้นมลดลง ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรปรับลดปริมาณการให้อาหารข้นที่มีราคาสูง และเกษตรกรบางรายเลิกเลี้ยง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำนมลดลง
v สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 5.7 สินค้าประมงที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากเกษตรกร มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ส่งผลให้มีอัตราการรอดดี ประกอบกับเกษตรกรเร่งจับกุ้งเพื่อลดความเสียหายจากสภาพอากาศร้อนสลับกับฝนตก ส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ปริมาณลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศ ที่มีลมแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญในภาคกลางมีสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำในพื้นที่เพาะเลี้ยงมีน้อย ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรชะลอการปล่อยลูกพันธุ์ปลาและลดรอบการเลี้ยง
v สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก โดยกิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินเพิ่มขึ้นในพื้นที่ปลูกพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 (ปีเพาะปลูก 2566/67) และกิจกรรมการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นในพื้นที่พืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ปีเพาะปลูก 2565/66) ส่งผลให้ภาพรวมในสาขาบริการทางเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
v สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษภายในประเทศ และการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น จีน และลาวที่เพิ่มขึ้น ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคบริการในประเทศ รวมถึงมีการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น ครั่ง เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเลี้ยงของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอินเดีย ไม้ยางพารา ผลผลิตลดลงตามพื้นที่ตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น รังนก ลดลง เนื่องจากมีการส่งออกไปจีนลดลง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ บริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและตอบโจทย์ผู้บริโภค แปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีในการผลิต การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง ประกอบด้วย ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภาวะฝนทิ้งช่วง และแนวโน้มการเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงปลายปี ที่จะทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง การระบาดของโรคและแมลง ที่ยังต้องติดตามต่อเนื่องทั้งสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศ ราคาปัจจัยการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและการลงทุนของเกษตรกร และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้
อัตราการเติบโตของภาคเกษตร
หน่วย: ร้อยละ
สาขา | ไตรมาส 2/2566 (เมษายน - มิถุนายน 66) |
ภาคเกษตร | 0.3 |
พืช | -1.6 |
ปศุสัตว์ | 3.2 |
ประมง | 5.7 |
บริการทางการเกษตร | 2.0 |
ป่าไม้ | 2.2 |
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร